--- ชนิดเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ---




ชนิดเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ชนิดของเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบ่งตามขนาดบริเวณพื้นที่การบริการ

1.เครือข่ายส่วนบุคคล
เครือข่ายส่วนบุคคลหรือแพน (Personal Area Network :PAN)เป็นการเชื่อมโยงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ใช้งาน แพนที่ใช้ในปัจจุบันคือแพนไร้สาย (Wireless PAN :WPAN) มีการใช้อย่างแพร่หลายซึ่งการเชื่อมต่อแบบนี้จะใช้ได้ไม่เกิน 10 เมตร เช่น ใช้เทคโนโลยีบลูทูท(Bluetooth technology) เชื่อมต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ากับหูฟังและไมโครโฟนไร้สาย ใช้คลื่นวิทยุเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับเมาส์หรือคีย์บอร์ดแบบไร้สาย ใช้อินฟราเรดหรือบลูทูทเชื่อมต่อพีดีเอกับเครื่องพิมพ์เข้าด้วยกัน

2.เครือข่ายเฉพาะที่
เครือข่ายเฉพาะที่หรือแลน(Local Area Network :LAN) เป็นการเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันหรือพื้นที่เดียวกัน เช่น ภายในบ้าน ภายในอาคาร หรือภายในองค์กรที่มีระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก แลนเป็นเครือข่ายที่แต่ละองค์กรดูแลและบริหารจัดการด้วยตนเอง ขอบเขตของแลนมีตั้งแต่เครือข่ายขนาดเล็กที่เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ภายในห้องเดียวกันไปจนถึงเครือข่ายขนาดปานกลางที่เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ระหว่างห้องหรือระหว่างอาคาร เช่น ระบบเครือข่ายภายในโรงเรียนหรือบริษัท เทคโนโลยีแลนที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เช่น อีเทอร์เน็ต ซึ่งมีความสามารถในการรองรับในการสื่อสารด้วยความเร็วสูงมากโดยทั่วไปมีความเร็วตั้งแต่ 10 เมกะบิตต่อวินาทีขึ้นไป และความผิดพลาดในการสื่อสารต่ำ ทำให้สามารถรับส่งข้อมูลปริมาณมาก แลนมีความสำคัญในการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ในองค์กร และมีแนวโน้มที่จะทำให้ทรัพยากรและการประมวลผลในองค์กรเชื่อมโยงเป็นระบบเดียวกัน นอกจากแลนแบบที่ต้องใช้สายนำสัญญาณแล้ว ปัจจุบันแลนแบบไร้สาย(Wireless LAN :WLAN) ได้รับความนิยมในการใช้งานมากขึ้น เนื่องจากความสะดวกในการจัดวางระบบที่ไม่ต้องอาศัยสายนำสัญญาณ ทำให้เหมาะสมกับการใช้งานในอาคารที่การเดินสายสัญญาณทำได้ยากหรือไม่สามารถเดินสายสัญญาณได้ เช่น การนำเทคโนโลยีไวไฟ (WIFI technology) ไปใช้ในอาคารเก่าที่ได้รับการอนุรักษ์ ซึ่งรองรับความเร็วในการสื่อสารได้สูงกว่า 10 เมกะบิตต่อวินาที และครอบคลุมบริเวณภายในรัศมี 100 เมตรในอาคาร หรือรัศมี 500 เมตรภายในอาคารขึ้นอยู่กับความแรงของสัญญาณและสิ่งกีดขวาง

3.เครือข่ายนครหลวง
เครือข่ายนครหลวงหรือแมน(Metropolitan Area Network : MAN) เป็นการเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์หรือแลนหลายเครือข่าย ที่ตั้งอยู่ในบริเวณไม่ไกลกันนักหรือภายในอาณาเขตของเมืองเดียวกันเข้าด้วยกัน เช่น แลนของหน่วยงานเดียวกันที่ตั้งอยู่ในบริเวณต่างๆ ของเมือง แมนอาจสร้างขึ้นจากเครือข่ายเฉพาะขององค์กรเอง หรือใช้บริการสายวงจรสื่อสารที่เช่าจากผู้ให้บริการสัญญาณสื่อสารก็ได้ โดยที่เทคโนโลยีที่ใช้ในแมนอาจใช้สายนำสัญญาณ เช่น ไฟเบอร์ออปติก หรือแบบไร้สาย เช่น การใช้คลื่นไมโครเวฟ ในปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีไวแมกซ์ (Wimax) ตัวอย่างของแมน เช่น การเชื่อมโยงแลนระหว่างหลายๆ วิทยาเขตของสถานศึกษาที่อยู่เคียงเข้าด้วยกัน

4. เครือข่ายบริเวณกว้าง
เครือข่ายบริเวณกว้างหรือแวน (Wide Area Network : WAN) เป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงระหว่างระบบคอมพิวเตอร์ในระยะห่างไกล เช่น เชื่อมโยงระหว่างจังหวัด ระหว่างประเทศ หรือระหว่างทวีป การสร้างแวนจึงต้องพึ่งพาระบบบริการเครือข่ายสาธารณะ เช่น วงจรเช่าจากผู้ให้บริการสัญญาณสื่อสารข้ามทวีป วงจรสื่อสารผ่านดาวเทียม แวนจึงเป็นเครือข่ายที่ใช้กับองค์กรที่มีสาขาห่างไกลและต้องการเชื่อมสาขาเหล่านั้นเข้าด้วยกัน เช่น ธนาคารที่มีสาขาทั่วประเทศใช้งานแวนเชื่อมโยงบริการต่างๆ ระหว่างสาขาเทคโนโลยีที่ใช้กับแวนมีความหลากกหลายทั้งแบบไร้สายและแบบใช้สายนำสัญญาณ เช่น มีการเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างประเทศด้วยช่องสัญญาณดาวเทียม คลื่นไมโครเวฟ คลื่นวิทยุ สายเคเบิลทั้งที่วางไปตามถนนและวางใต้ท้องทะเล เทคโนโลยีแวนได้รับการพัฒนาไปมาก เพื่อให้ทันกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว อินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันทั่วโลกและเป็นตัวอย่างของแวนที่เกิดจากการเชื่อมโยงแลนหลายเครือข่ายเข้าด้วยกัน

ชนิดเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบ่งตามลักษณะการบริการ

4.1.เครือข่ายแบบรับ-ให้บริการ
เครือข่ายแบบรับ-ให้บริการ (client-server network) เป็นเครือข่ายที่มีบริการ(server) ที่มีประสิทธิภาพและความเร็วสูง รองรับการขอใช้บริการจากเครื่องรับบริการ สามารถให้บริการเครื่องรับบริการหลายเครื่องในเวลาเดียวกัน ทำให้สะดวกในการบริการจัดการ บำรุงรักษาทรัพยากรของระบบ ตัวอย่างเช่น เครื่องบริการไฟล์ (file server) เครื่องบริการงานพิมพ์(print server) เครื่องบริการเมล(mail server)

4.2.เครือข่ายระดับเดียวกัน
เครือข่ายระดับเดียวกัน(Peer to Peer Network:P2P) เป็นเครือข่ายที่คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องสามารถทำหนาที่ได้ทั้งมี่เป็นเครื่องรับและให้บริการได้ในขณะเดียวกัน และสามารถใช้งานทรัพยากรของเครื่องอื่นได้เท่าเทียมกัน โดยที่ไม่มีเครื่องใดเครื่องหนึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องบริการโดยเฉพาะ จึงทำให้เปรียบเสมือนกับว่าเครือข่ายเป็นแหล่งรวมของทรัพยากรจากทุกเครื่อง เช่น ฮาร์ดดิสก์ ซีดีไดร์ฟ เครื่องพิมพ์ ทรัพยากรเหล่านี้สามารถแบ่งกันใช้ได้